Posted on

ประโยชน์ 10 อย่างของกะปิ รู้เเล้วอึ้ง

ประโยชน์ 10 อย่างของกะปิ รู้เเล้วอึ้ง

  1. บำรุงกระดูก แคลเซียมจะถูกปลดปล่อยจากกะปิถ้าผ่านความร้อน เช่น ตอนปิ้งกะปิหรือทำข้าวคลุกกะปิด้วยข้าวสวยร้อน ๆ ถ้าเบื่อดื่มนมมากก็ขอให้ลองหากะปิมาทานบ้างเพราะให้แคลเซียมมากกว่านมวัวหลายเท่านัก
  2. ถูกกับเลือดจาง กะปิมีวิตามินบี 12 ซึ่งต้องได้จากภายนอกเท่านั้ ร่างกายเราสร้างเองไม่ได้ แต่มีในกะปิ วิตามินชนิดนี้ดีกับเลือดมาก หากขาดจะทำให้ป่วยเลือดจางได้เช่นเดียวกับท่านที่กินมังสวิรัติ
  3. ไม่ให้ร้างฟัน มีการศึกษาโดยคุณหมอฟันที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ว่า กะปิที่ผ่านความร้อนช่วยให้ฟันไม่ผุ ทำให้ชาวใต้ที่รับประทานกะปิและน้ำบูดูบ่อย ไม่ค่อยพบปัญหาฟันผุฟันสึกมากเหมือนพี่น้องภาคอื่น ๆ
  4. บำรุงมันปลา มีน้ำมันโอเมก้า 3 ชนิดเดียวกับที่อยู่ในปลาน้ำลึกมาก เพราะเป็นตัวแม่ที่แท้จริงที่สร้างน้ำมันดีชนิดนี้ แถมมีมากและดูดซึมได้ดีด้วย ลองช่วยกินสลับกับปลาสดบ้างก็ดี ไม่ต้องกลัวธาตุเค็ม หรือ โซเดียม เกินจากกะปิ เพราะถ้าเทียบกันแล้วอาหารใกล้ตัวหลายอย่างมีมากกว่า อย่างปลาเค็ม ไส้กรอก แหนมและขนมกรุบ กรอบใส่ผงชูรส
  5. หาจุลินทรีย์ เป็นเชื้อดีที่หมักอยู่ในกะปิมีสารพัดจุลินทรีย์ที่ช่วยเป็น ?โปรไบโอติกส์? ในลำไส้ เสริมภูมิให้เชื้อผู้ร้ายไม่มาแผ้วพาน แต่ข้อสำคัญคือต้องเลือกกะปิที่สะอาดดีจริงไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเพิ่มเชื้อร้ายให้ท้องไส้เสียกันไปได้
  6. มีป้องกันตา มีแอนตี้ออกซิแดนท์สำคัญคือ แอสตาแซนทิน กินแล้วช่วยคลายเครียดให้ตา ให้ไม่เหนื่อยล้าเมื่อยตา และล้างสนิมแก่ออกจากตาได้ดี
  7. พาวิตามินดี นอกจากแสงแดดแล้วกะปิเป็นแหล่งวิตามินดีที่แสนดีที่นอกจากช่วยกระดูกแล้ว ยังช่วยคลายเครียดให้อารมณ์ผ่องใสได้ เพราะคนที่ไร้วิตามินดีมาก ๆ นั้นจะมีอารมณ์ออกไปทางซึมเศร้าเฉาชีวิต
  8. ไม่มีเลือดหนืด ด้วยอานิสงส์จากน้ำมันดีในกะปิอีกแล้วที่ช่วยหล่อลื่นให้เลือดไหลปรูดปราดไม่ขาดช่วง ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันตามที่สำคัญอย่างหัวสมองและหัวใจ ออกฤทธิ์คล้าย ๆ พี่ใหญ่แอสไพรินทีเดียว
  9. ไม่จืดความคิด โอเมก้า 3 ช่วยหล่อลื่นให้สมองแล่นไวเหมือนกับได้น้ำมันออโต้ลู้บบำรุงสมอง และน้ำมันในกะปิเป็นของที่ละลายผ่านไขมันได้ดี จะช่วยบำรุงส่วนประสาทที่มีชั้นไขมันเคลือบอยู่ได้มาก
  10. พิชิตโรคใจ ทั้งปกป้องห้องหัวใจและป้องกันหัวสมองที่เป็นดั่งดวงใจ ยกเว้นว่าอย่าทานเค็มจัดเกินไปเพราะในกะปิมีตัวช่วยสำคัญคือน้ำมันที่ช่วยหลอดเลือดอยู่ ทั้งในสมองและหัวใจเป็นเสมือนชุมทาง

ข้อมูลจาก: โรงพยาบาลราชวิถี

Posted on

กะปิคืออะไรและวิธีการทำกะปิ

กะปิ (อังกฤษ: shrimp paste หรือ shrimp sauce) เป็นเครื่องปรุงรสอย่างหนึ่งที่แพร่หลายในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทางตอนใต้ของประเทศจีน คำว่ากะปิ ใช้กันแพร่หลายทั้งในไทย ลาว และกัมพูชา ส่วนในอินโดนีเซีย เรียกกะปิว่าเตอราซี terasi (หรือ trassiterasie) , มาเลเซีย เรียกว่า เบลาจัน belacan (หรือbelachan, blachang) , เวียดนาม เรียกว่า mắm tôm , ฟิลิปปินส์ เรียกว่า bagoong alamang (หรือ bagoong aramang) และ ภาษาจีนฮกเกี้ยน เรียกว่า hom haหรือ hae ko (POJ: hê-ko)

กะปิ คิดขึ้นโดยชาวประมง ที่ต้องการจะดองกุ้งที่จับมาได้เพื่อเอาไว้รับประทานได้ในระยะเวลานานๆ หรือ อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งกล่าวว่าเนื่องจากไม่สามารถขายกุ้งได้หมด จึงทำการดองเอาไว้ ไม่ว่าข้อสันนิษฐานจะเป็นอย่างไร แต่ข้อเท็จจริงคือ กะปิเป็นตำรับอาหารของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในปัจจุบัน กะปิกลายมาเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมอาหาร และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนต่างๆ จากการผลิตกะปิขาย

ในประเทศไทย มีกะปิมากมายหลายชนิดให้เลือกรับประทาน กะปิแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกัน ทั้งคุณภาพ วัตถุดิบ กรรมวิธีผลิต ตามแต่ท้องถิ่นนั้นๆ โดยส่วนใหญ่ทำจากกุ้งเคย ซึ่งมีมากในแทบชายฝั่งทะเลอันดามัน จึงทำให้มีการผลิตกะปิในหลายๆ แห่ง ในพื้นที่ชายฝั่งติดกับทะเล

 

กะปิทำจากตัวเคย หรือ กุ้งเคย เป็นสัตว์ทะเลชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายกุ้งแต่ตัวเล็กกว่า และไม่มีกรีแหลมๆ ที่บริเวณหัว เหมือนกุ้ง ตัวสีขาวใส มีตาสีดำ อาศัยอยู่ตามบริเวณผิวทะเล

การจับกุ้งเคย

จะขึ้นอยู่กับสภาพของลมฟ้าอากาศและลมมรสุม เนื่องจากเคยเป็นสัตว์น้ำจำพวกแพลงก์ตอน เมื่อถูกกระแสน้ำและกระแสลมมากระทบกระเทือนก็จะถูกพัดพาไปตามแรงคลื่น และลม ฤดูทำการประมงเคยของแต่ละจังหวัดจึงแตกต่างกันไปตามฤดูมรสุม ทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทยตั้งแต่จังหวัดระยองถึงตราด จะอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม ส่วนจังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร เพชรบุรี จะทำการประมงเกือบตลอดปี ทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย คือ จังหวัด ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ฤดูที่ทำการประมงเคยก็จะแตกต่างกันออกไป คือ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และชุมพร เคยจะชุกชุมในเดือนมีนาคมถึงเมษายน จังหวัดสุราษฎร์ธานีจะชุกชุมในเดือนมีนาคมถึงเมษายนและกรกฎาคมถึงสิงหาคม ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชถึงนราธิวาส ช่วงที่เคยชุกชุมอยู่ระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม

เครื่องมือในการจับกุ้งเคย

ส่วนใหญ่ทำจากอวนในล่อนสีฟ้า มีขนาดช่องตาตั้งแต่ 1-2 มม. นำมาเย็บเป็นถุง หรือขณะทำการประมงกางผืนอวนให้มีลักษณะเหมือนถุงเพื่อรวบรวมเคย เครื่องมือที่ใช้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ เคลื่อนที่และประจำที่ พวกที่เคลื่อนที่ได้อาจใช้แรงคนหรือกำลังแรงจากเครื่องยนต์ พวกที่อยู่ประจำที่ก็มักจะผูกติดกับหลัก เสา หรือวัตถุหนัก เพื่อให้เครื่องมืออยู่กับที่ไม่ลอยไปไหน เครื่องมือเคลื่อนที่ได้แก่ อวนล้อม อวนเข็นทับตลิ่ง อวนลาก อวนรุน ระวะรุนเคย เจียดเคย สวิงช้อนเคย และถุงลากเคย เครื่องมือประจำที่ได้แก่ โพงพาง รั้วไซมาน ยอปีก ถุงซั้ง ถุงยักษ์ รอเคย และป้องเคย

 

การทำกะปิ

 

กรรมวิธีการผลิตกะปิ  อาศัยหลักการเช่นเดียวกับการทำน้ำปลา คือ อาศัยเอนไซม์จากเนื้อปลาและอวัยวะภายในของตัวปลาเอง  เป็นตัวการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีและจุลินทรีย์ในกระบวนการหมัก   โดยการใส่เกลือในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อยับยั้งการเน่าเสียเนื่องจากจุลินทรีย์  ดังนั้นกระบวนการที่จำเป็นและสำคัญที่สุดคือ  การย่อยสลายโดยเอนไซม์โดยเฉพาะการย่อยโปรตีนและไขมัน  ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดสารประกอบที่ทำให้เกิดกลิ่น  รส  ในผลิตภัณฑ์

1. หลังจากชาวประมงจับกุ้งเคยได้แล้วจะใช้ตะแกรงตาถี่ๆ หรือตระกร้าพลาสติกตาถี่ร่อนตัวเคย โดยจะใช้น้ำทะเลทำความสะอาดเพื่อให้เคยคงความสด ไม่ตาย และไม่เสียรสชาติที่ดีของกะปิ ซึ่งตัวเคยละเอียดจะลอดตะแกรงลงไปอยู่ข้างล่าง เหลือเศษใบไม้ เคยหยาบ และสิ่งที่ไม่ต้องการอยู่ข้างบน

2. นำเคยสดที่ได้ไปคลุกเคล้ากับเกลือ ในอัตราส่วนเท่าไหร่แล้วนั้นก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ โดยทั่วไปจะเป็นอัตราส่วนเกลือ 1 ส่วนต่อเคย 10 ส่วน หรือเกลือ 1 ส่วนต่อเคย 12 (ถ้าไม่ต้องการเค็มจัด) หลังจากนั้นก็จะนำไปพักไว้โดยใส่ในภาชนะที่มีช่องระบาย เช่น ตระกร้าหรือห่อด้วยอวนตาถี่แล้วทับด้วยวัสดุหนัก ๆ เพื่อให้น้ำออกไปบางส่วน ทิ้งไว้ 1-2 คืน (เรียกว่าการเกรอะ)

3. นำเคยที่ผ่านกันหมักกับเกลือแล้วไปตากแดดจัด โดยสามารถทำได้ 2 วิธีคือ

– ตากแห้ง โดยใช้ตะแกรงถี่ ๆ หรืออวนรองใต้เคย เพื่อให้น้ำหยดลงด้านล่างได้

– ตากเปียก จะนำไปตากบนผ้าพลาสติกหรือผ้ายางซึ่งวิธีนี้คุณค่าทางอาหารของเคย จะไม่สูญไปกับน้ำเหมือนการตากแห้ง

หมั่นกลับเอาข้างล่างขึ้น ตากแดดจัด 2-3 วันให้เคยแห้ง(ให้มีความชื้นอยู่บ้างไม่ต้องแห้งสนิท)ก็ใช้ได้

4. นำเคยที่ตากแดดเรียบร้อยแล้วไปตำ บดหรือโม่ให้ระเอียด

5. นำเคยที่โม่แล้วมาอัดใส่ภาชนะหมัก เช่น ไห โอ่งดินเผา หรือถังพลาสติก ให้แน่นพยายามไม่ให้มีช่องว่างระหว่างเนื้อกะปิ เพราะจะทำให้เนื้อกะปิทำปฎิกริยากับอากาศแล้วเกิดกลิ่นหืนที่ไม่พึงประสงค์ หลังจากอัดแล้วปิดฝาภาชนะให้แน่นหนากันแมลงและหนอน ระยะเวลาในการหมักจะใช้เวลาเป็นเดือน ๆ 3-5

6. หลังจากหมักได้ที่ก็จะนำกะปิเคยที่ได้มาบรรจุในภาชนะที่มีฝาปิดสนิท   สามารถจำหน่ายและเก็บไว้ใช้ได้นาน   แต่ถ้าไม่บรรจุก็สามารถนำไปแช่เย็นหรือเก็บไว้ในที่ร่มที่มีฝาปิดเพื่อป้องกันแมลงมารบกวน

 

หลักสำคัญในการผลิตกะปิ

 

1. เคยจะต้องใช้เคยชนิดเดียวกัน  เพราะถ้าใช้หลายชนิดรวมกันแล้วจะทำให้กะปิมีคุณภาพต่ำลง

2. อัตราส่วนของเคยและเกลือต้องพอดีไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป

3. การระมัดระวังความสะอาดในระหว่างขั้นตอนการผลิต

4. ต้องไม่มีการปลอมปน

 

หลักการผลิตกะปิที่ดี

กรมประมงได้สรุปหลักการผลิตกะปิที่ดีไว้ 10 ข้อดังนี้

1. เคยสดที่ใช้ควรสะอาด  และต้องเลือกสิ่งเจือปนอื่นๆออก

2. การเคล้าเกลือกับเคยควรเคล้าให้ทั่วกัน

3. เกลือที่ใส่ควรใส่ให้เพียงพอ  เพื่อไม่ให้เคยเน่าเสีย

4. เคยที่เคล้าเกลือแล้วควรจะเกรอะ  หรือทับน้ำในภาชนะที่สามารถให้อากาศถ่ายเทได้

5. เคยที่เกรอะและบดแล้ว  ควรมีการตากแดดก่อนการหมัก

6. การอัดกะปิเพื่อหมัก  ควรจะอัดให้แน่น  โดยพยายามอย่าให้มีช่องอากาศอยู่ในกะปิ  เพราะจะทำ

    ให้กะปิมีกลิ่นไม่ดี

7. กะปิควรหมักในภาชนะดินเผา เช่น ไห หรือตุ่ม และมีการป้องกันแมลงเข้าโดยการขัดปาก

    ไหด้วยใบมะพร้าวและไม้ไผ่  และมีผ้าขาวคลุมอีกทีหนึ่ง

8. กะปิที่ดีควรมีการหมักอย่างน้อย 3 เดือน

9. กะปิที่ดีไม่ควรใส่สี

10. การบรรจุกะปิเพื่อจำหน่าย  ควรจะอัดกะปิใส่ภาชนะบรรจุให้แน่นพยายามอย่าให้มีช่องว่างของอากาศในภาชนะ

Posted on 17,446 Comments

เคยคืออะไร

เคย หรือ เคอย (อังกฤษ: Krill) เป็นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายกุ้ง ในกลุ่มกุ้ง-กั้ง-ปูซึ่งเป็นสัตว์สำคัญโดยเฉพาะของแพลงก์ตอนที่เป็นอาหารของ baleen whale,ปลากระเบนราหูน้ำเค็ม, ปลาฉลามวาฬ, crabeater seal และ pinniped seals รวมทั้งนกทะเลบางสปีชีส์ที่กินเคยแต่เพียงอย่างเดียว

กุ้งเคยจัดเป็นครัสเตเชียนขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายกุ้ง แต่ตัวเล็กกว่า และไม่มีกรีแหลมๆ ที่บริเวณหัว เหมือนกุ้ง ตัวสีขาวใส มีตาสีดำ มีขนาดยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีเปลือกบางและนิ่ม อาศัยอยู่ตามบริเวณรากไม้ตามป่าชายเลน เช่น ต้น โกงกาง แสม ลำพู ชาวบ้านมักจะออกช้อน ตัวเคยกันในเวลาเช้า ช้อนกันได้ทุกวัน เพราะมีอยู่มากทุกฤดูกาล จะดำรงชีวิตอยู่ใกล้ผิวทะเลโดยไม่จมลงไป ซึ่งอาจจะอยู่ในน้ำลึกประมาณหน้าแข้งถึงระดับหน้าอก ในแถบขั้วโลกใต้จะเป็นแพลงก์ตอน ที่มีขนาดใหญ่ มันจะเป็นอาหารที่สำคัญ ของปลาวาฬ ส่วนในอ่าวไทย เป็นแพลงก์ตอนที่มีขนาดเล็กอยู่ตามชายฝั่ง ในนากุ้งและบ่อปลา ลักษณะที่สำคัญคือ ในตัวเมียจะมีถุงไข่ ติดอยู่กับท้องตั้งแต่เกิด จึงมีชื่อเรียกว่า กุ้งโอปอสซั่ม (opossum shrimp)

 

กุ้งเคยมีความสำคัญมากในห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศทะเล  เนื่องจากเป็นอาหารของสัตว์หลายชนิด  ลำตัวของกุ้งเคยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือส่วนหัว (head) ส่วนอก (thorax) และส่วนท้อง (abdomen) ส่วนหัวมีระยางค์ที่สำคัญ 5 คู่ ปล้องที่มี anal เรียกว่า telson (caudal rami) ระบบขับถ่ายประกอบด้วย anternal or maxillary glands มีตาสองประเภทคือ nauplius eye อยู่กลางหัว 1 ตา และตาประกอบ (compound eyes) 1 คู่ อยู่ที่ด้านข้างของหัว  เพศผู้และเพศเมียแยกกันคนละตัว มีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ

 

กุ้งเคยมีประมาณ 85 ชนิด (species) มีขนาดแตกต่างกันมีลำตัวยาวตั้งแต่ขนาดเล็กกว่า 0.5 นิ้ว ไปจนถึง 5.5 นิ้ว (14 เซนติเมตร) กุ้งเคยที่พบมาก (dominant species) ในแถบขั้วโลกใต้ อาร์กติก แอนตาร์กติก และอเมริกาเหนือ โดยส่วนใหญ่เป็นกุ้งเคยชนิด  Euphausia superba มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 2.3 นิ้ว หรือประมาณ 6 เซนติเมตร หนักประมาณ 0.035 ออนซ์ (1 กรัม)  แอนตาร์กติกคริลมีช่วงชีวิตอยู่ประมาณ 5 -10 ปี  เพศเมียของ E. superba วางไข่ครั้งหนึ่งประมาณ 1,000 ฟองในช่วงฤดูร้อน บางทีอาจวางได้หลายครั้งในหนึ่งฤดู  โดยวางไข่บนผิวหน้าน้ำ แล้วจมลงไปตามระดับความลึก  ซึ่งจะพัฒนาไปตามระยะการเจริญเติบโตจนกระทั่งเป็นตัวกุ้งเคยจึงว่ายกลับขึ้นมาสู่ผิวหน้าน้ำ   กุ้งเคยที่พบในมหาสมุทรแปซิฟิกส่วนใหญ่เป็นชนิด Euphausia pacifica และในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือจะเป็นชนิด Meganyctiphanes norvigica

Euphausia superba
ลักษณะของกุ้งเคย Euphausia superba (ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.ecoscope.com)

ชนิดของกุ้งเคยที่ใช้ทำกะปิ

สำหรับตัวกุ้งเคยที่ใช้ทำกะปิ มีอยู่ 5 สกุลคือ

1. สกุล Acetes (Order Decapoda; Family Sergestidae)เคยในสกุล Acetes มีชื่อเรียกต่างๆ กัน ตามขนาดของลำตัว ตามสีของอวัยวะต่างๆ ที่มองเห็นและตามลักษณะของการรวมกันอยู่ เช่น ถ้าเรียกตามขนาดของลำตัว หากลำตัวมีขนาดใหญ่จะเรียก เคยโกร่ง เคยหยาบ เคยใหญ่ ถ้าเรียกตามสีเช่น สีของหนวดจะเรียกเคยสายไหม ซึ่งนิยมเรียกทางภาคใต้ สีของลำตัวเรียก เคยดอกเลา สีของหางเรียก เคยหางแดง ส่วนการเรียกตามลักษณะของการรวมกันอยู่เรียก เคยฝูง เคยประดา เคยในสกุลนี้มีขนาดใหญ่ ขนาดที่พบคือ 7.0-32.9 มม.

2. สกุล Lucifer (Order Decapoda; Family Sergestidae)เคยในสกุล Lucifer ได้แก่ เคยน้ำข้าว เคยเส้นด้าย เคยสำลี เคยนุ่น เคยในสกุลนี้ลำตัวเล็กยาว และแบนข้าง ส่วนที่เป็นหัวยาวมาก ซึ่งเป็นจุดเด่นของเคยในสกุลนี้ ขนาดที่พบยาวสูงสุดประมาณ 8.0 มม.

3. สกุล Mesopodopsis (Order Mysidacea; Family Mysidae)เคยในสกุล Mesopodopsis ได้แก่ เคยตาดำ เคยละเอียด เคยตาดำหวาน เคยคายไม้ไผ่ ลักษณะของเคยในสกุลนี้คือ ขาตรง บริเวณส่วนอกยาว ขาตรงบริเวณปล้องท้อง มีขนาดเล็กมองเกือบไม่เห็น ยกเว้นเพศผู้ขาคู่ที่ 4 จะยาว ปล้องของลำตัวยาวเกือบเท่ากัน ตรงโคนแพนหางอันในมีลักษณะคล้ายฟองอากาศ

4. สกุล Acanthomysis (Order Mysidae; Family Mysidae)เคยในสกุล Acanthomysis ได้แก่ เคยหน้าสนิม เคยขี้เท่า เคยตาดำเล็ก พบเพียงชนิดเดียวคือ Acanthomysis hodgarti W.M.Tattersal ลักษณะของเคยชนิดนี้คือ ปลายของแพนหนวดมนกลม ด้านล่างของปล้องท้องจะมีจุดสีดำกลมทุกปล้อง หางเรียวยาว ด้านข้างมีหนาม 28 คู่ ส่วนปลายจะมีหนามยาว 2 คู่ ขนาดที่พบ เพศผู้ และเพศเมียมีความยาวอยู่ระหว่าง 5.0-9.9 มม.

5. สกุล Rhopalophthalmus (Order Mysidacea; Family Mysidae)เคยในสกุล Rhopalophthalmus เป็นเคยตาดำที่มีขนาดใหญ่ พบปะปนอยู่กับเคยตาดำเล็ก เพศผู้มีขนาด 9.0- 10.9 มม. เพศเมีย 9.0- 14.9 มม. พบเพียงจังหวัดสุราษฏร์ธานีเพียงแห่งเดียว และพบเพียงชนิดเดียวเท่านั้น มีลักษณะคือนัยน์ตาและก้านตา จะมีขนาดใหญ่กว่าเคยตาดำชนิดอื่นๆ ด้านล่างของปล้องท้องจะไม่มีจุดสี และขาที่ปล้องท้องจะยาวกว่าเคยตาดำอื่นๆ ขาเรียวยาว ด้านข้างมีหนาม 14 คู่ ส่วนปลายมีหนามยาว 2 คู่ และมีขนเล็ก ๆล้อมรอบ หางมีจุดสีแดง 2 จุด อยู่ตรงใกล้ๆ กับส่วนบนและส่วนปลายหาง ซึ่งมองเห็นได้ชัดเจน

 

ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี