Posted on 17,448 Comments

เคยคืออะไร

เคย หรือ เคอย (อังกฤษ: Krill) เป็นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายกุ้ง ในกลุ่มกุ้ง-กั้ง-ปูซึ่งเป็นสัตว์สำคัญโดยเฉพาะของแพลงก์ตอนที่เป็นอาหารของ baleen whale,ปลากระเบนราหูน้ำเค็ม, ปลาฉลามวาฬ, crabeater seal และ pinniped seals รวมทั้งนกทะเลบางสปีชีส์ที่กินเคยแต่เพียงอย่างเดียว

กุ้งเคยจัดเป็นครัสเตเชียนขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายกุ้ง แต่ตัวเล็กกว่า และไม่มีกรีแหลมๆ ที่บริเวณหัว เหมือนกุ้ง ตัวสีขาวใส มีตาสีดำ มีขนาดยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีเปลือกบางและนิ่ม อาศัยอยู่ตามบริเวณรากไม้ตามป่าชายเลน เช่น ต้น โกงกาง แสม ลำพู ชาวบ้านมักจะออกช้อน ตัวเคยกันในเวลาเช้า ช้อนกันได้ทุกวัน เพราะมีอยู่มากทุกฤดูกาล จะดำรงชีวิตอยู่ใกล้ผิวทะเลโดยไม่จมลงไป ซึ่งอาจจะอยู่ในน้ำลึกประมาณหน้าแข้งถึงระดับหน้าอก ในแถบขั้วโลกใต้จะเป็นแพลงก์ตอน ที่มีขนาดใหญ่ มันจะเป็นอาหารที่สำคัญ ของปลาวาฬ ส่วนในอ่าวไทย เป็นแพลงก์ตอนที่มีขนาดเล็กอยู่ตามชายฝั่ง ในนากุ้งและบ่อปลา ลักษณะที่สำคัญคือ ในตัวเมียจะมีถุงไข่ ติดอยู่กับท้องตั้งแต่เกิด จึงมีชื่อเรียกว่า กุ้งโอปอสซั่ม (opossum shrimp)

 

กุ้งเคยมีความสำคัญมากในห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศทะเล  เนื่องจากเป็นอาหารของสัตว์หลายชนิด  ลำตัวของกุ้งเคยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือส่วนหัว (head) ส่วนอก (thorax) และส่วนท้อง (abdomen) ส่วนหัวมีระยางค์ที่สำคัญ 5 คู่ ปล้องที่มี anal เรียกว่า telson (caudal rami) ระบบขับถ่ายประกอบด้วย anternal or maxillary glands มีตาสองประเภทคือ nauplius eye อยู่กลางหัว 1 ตา และตาประกอบ (compound eyes) 1 คู่ อยู่ที่ด้านข้างของหัว  เพศผู้และเพศเมียแยกกันคนละตัว มีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ

 

กุ้งเคยมีประมาณ 85 ชนิด (species) มีขนาดแตกต่างกันมีลำตัวยาวตั้งแต่ขนาดเล็กกว่า 0.5 นิ้ว ไปจนถึง 5.5 นิ้ว (14 เซนติเมตร) กุ้งเคยที่พบมาก (dominant species) ในแถบขั้วโลกใต้ อาร์กติก แอนตาร์กติก และอเมริกาเหนือ โดยส่วนใหญ่เป็นกุ้งเคยชนิด  Euphausia superba มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 2.3 นิ้ว หรือประมาณ 6 เซนติเมตร หนักประมาณ 0.035 ออนซ์ (1 กรัม)  แอนตาร์กติกคริลมีช่วงชีวิตอยู่ประมาณ 5 -10 ปี  เพศเมียของ E. superba วางไข่ครั้งหนึ่งประมาณ 1,000 ฟองในช่วงฤดูร้อน บางทีอาจวางได้หลายครั้งในหนึ่งฤดู  โดยวางไข่บนผิวหน้าน้ำ แล้วจมลงไปตามระดับความลึก  ซึ่งจะพัฒนาไปตามระยะการเจริญเติบโตจนกระทั่งเป็นตัวกุ้งเคยจึงว่ายกลับขึ้นมาสู่ผิวหน้าน้ำ   กุ้งเคยที่พบในมหาสมุทรแปซิฟิกส่วนใหญ่เป็นชนิด Euphausia pacifica และในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือจะเป็นชนิด Meganyctiphanes norvigica

Euphausia superba
ลักษณะของกุ้งเคย Euphausia superba (ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.ecoscope.com)

ชนิดของกุ้งเคยที่ใช้ทำกะปิ

สำหรับตัวกุ้งเคยที่ใช้ทำกะปิ มีอยู่ 5 สกุลคือ

1. สกุล Acetes (Order Decapoda; Family Sergestidae)เคยในสกุล Acetes มีชื่อเรียกต่างๆ กัน ตามขนาดของลำตัว ตามสีของอวัยวะต่างๆ ที่มองเห็นและตามลักษณะของการรวมกันอยู่ เช่น ถ้าเรียกตามขนาดของลำตัว หากลำตัวมีขนาดใหญ่จะเรียก เคยโกร่ง เคยหยาบ เคยใหญ่ ถ้าเรียกตามสีเช่น สีของหนวดจะเรียกเคยสายไหม ซึ่งนิยมเรียกทางภาคใต้ สีของลำตัวเรียก เคยดอกเลา สีของหางเรียก เคยหางแดง ส่วนการเรียกตามลักษณะของการรวมกันอยู่เรียก เคยฝูง เคยประดา เคยในสกุลนี้มีขนาดใหญ่ ขนาดที่พบคือ 7.0-32.9 มม.

2. สกุล Lucifer (Order Decapoda; Family Sergestidae)เคยในสกุล Lucifer ได้แก่ เคยน้ำข้าว เคยเส้นด้าย เคยสำลี เคยนุ่น เคยในสกุลนี้ลำตัวเล็กยาว และแบนข้าง ส่วนที่เป็นหัวยาวมาก ซึ่งเป็นจุดเด่นของเคยในสกุลนี้ ขนาดที่พบยาวสูงสุดประมาณ 8.0 มม.

3. สกุล Mesopodopsis (Order Mysidacea; Family Mysidae)เคยในสกุล Mesopodopsis ได้แก่ เคยตาดำ เคยละเอียด เคยตาดำหวาน เคยคายไม้ไผ่ ลักษณะของเคยในสกุลนี้คือ ขาตรง บริเวณส่วนอกยาว ขาตรงบริเวณปล้องท้อง มีขนาดเล็กมองเกือบไม่เห็น ยกเว้นเพศผู้ขาคู่ที่ 4 จะยาว ปล้องของลำตัวยาวเกือบเท่ากัน ตรงโคนแพนหางอันในมีลักษณะคล้ายฟองอากาศ

4. สกุล Acanthomysis (Order Mysidae; Family Mysidae)เคยในสกุล Acanthomysis ได้แก่ เคยหน้าสนิม เคยขี้เท่า เคยตาดำเล็ก พบเพียงชนิดเดียวคือ Acanthomysis hodgarti W.M.Tattersal ลักษณะของเคยชนิดนี้คือ ปลายของแพนหนวดมนกลม ด้านล่างของปล้องท้องจะมีจุดสีดำกลมทุกปล้อง หางเรียวยาว ด้านข้างมีหนาม 28 คู่ ส่วนปลายจะมีหนามยาว 2 คู่ ขนาดที่พบ เพศผู้ และเพศเมียมีความยาวอยู่ระหว่าง 5.0-9.9 มม.

5. สกุล Rhopalophthalmus (Order Mysidacea; Family Mysidae)เคยในสกุล Rhopalophthalmus เป็นเคยตาดำที่มีขนาดใหญ่ พบปะปนอยู่กับเคยตาดำเล็ก เพศผู้มีขนาด 9.0- 10.9 มม. เพศเมีย 9.0- 14.9 มม. พบเพียงจังหวัดสุราษฏร์ธานีเพียงแห่งเดียว และพบเพียงชนิดเดียวเท่านั้น มีลักษณะคือนัยน์ตาและก้านตา จะมีขนาดใหญ่กว่าเคยตาดำชนิดอื่นๆ ด้านล่างของปล้องท้องจะไม่มีจุดสี และขาที่ปล้องท้องจะยาวกว่าเคยตาดำอื่นๆ ขาเรียวยาว ด้านข้างมีหนาม 14 คู่ ส่วนปลายมีหนามยาว 2 คู่ และมีขนเล็ก ๆล้อมรอบ หางมีจุดสีแดง 2 จุด อยู่ตรงใกล้ๆ กับส่วนบนและส่วนปลายหาง ซึ่งมองเห็นได้ชัดเจน

 

ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี